จะว่าไปแล้วแนวคิดในการสร้างเมืองหลวงแห่งที่ 2 หรือการย้ายเมืองหลวงจาก กทม.ไปอยู่พื้นที่อื่น อาจจะไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้ หลังพบว่า กทม.เริ่มถึงจุดอิ่มตัวไม่สามารถรองรับการเติบโตของประเทศและประชากรได้ จนเกิดความแออัด มีการถมคูคลองที่เคยใช้เป็นพื้นที่รับน้ำ มีการขุดน้ำบาดาลขึ้นมาใช้จนนำไปสู่สภาวะแผ่นดินทรุด กระทั่งมีปรากฏการณ์ถนนหลักทรุดเป็นหลุมกว้างและลึกถึง 2 เมตรให้เห็นอยู่บ่อยๆ ทั้งที่ถนนเพชรบุรี ถนนศรีอยุธยา เป็นต้น จนนำไปสู่ปัญหาน้ำท่วมขังในพื้นที่ กทม.ทุกวันนี้
ไม่เพียงแค่นั้น... ยังมีข้อมูลจากทั่วโลกจากบรรดานักวิทยาศาสตร์ และนักวิชาการต่างๆ รวมไปถึงนักวิชาการของไทย เคยออกมาเตือนให้รัฐบาลเตรียมรับมือกับอุทกภัยที่จะเกิดขึ้นจากสภาวะโลกร้อน น้ำแข็งในขั้วโลกละลาย จะส่งผลกระทบถึง กทม.ในอีก 10 ปี 20 ปี และ 40 ปีข้างหน้า
โดยเฉพาะ กทม.อาจถึงขั้นจมบาดาล น้ำจะท่วมสูงเท่ากับอาคารสูง 10 ชั้น 15 ชั้น อันเป็นผลมาจากสภาวะแวดล้อมของโลก และด้านกายภาพของประเทศไทยที่เปลี่ยนแปลงในหลายด้านๆ ซึ่งในอัตราปกติจากสภาวะโลกร้อนทำให้น้ำทะเลหนุนสูงขึ้นปีละ 4 มิลลิเมตร ขณะที่แผ่นดิน กทม.ทรุดปีละประมาณ 1.5 มิลลิเมิตร ก็เท่ากับว่า กทม.ทรุดลงในระดับ 5.5 มิลลิเมตรต่อปี ซึ่งจะสร้างความเสียหายและประชาชนต้องได้รับความเดือดร้อน
ตรงนี้จึงเป็นประเด็นสำคัญที่เสนอให้มีการย้ายเมืองหลวงไปในพื้นที่ที่เหมาะสม!
ดังนั้น การที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มีคำสั่งให้สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ไปศึกษาการย้ายเมืองหลวงหรือจะขยายไปรอบนอกอย่างไร และหากจะย้ายควรย้ายไปที่ไหน ใช้งบประมาณอย่างไร เพราะวันนี้ กทม.มีปัญหาการจราจร รถติดมาก เจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรออกมาแก้ปัญหาก็ถูกวิจารณ์ว่ายิ่งทำให้รถติดกว่าเดิม ตรงนี้จึงเป็นเหตุผลให้ไม่มีใครอยากมาทำงาน รัฐบาลก็จะต้องแก้ปัญหาให้ได้
สภาพัฒน์จึงต้องไปศึกษาและกำหนดระยะเวลาให้ถูกว่า กทม.ควรเป็นอย่างไร!
อย่างไรก็ดี การที่บิ๊กตู่มีคำสั่งให้สภาพัฒน์ไปศึกษาถึงการย้ายเมืองหลวง หรือขยายออกไปรอบนอกนั้น ไม่ใช่เรื่องใหม่หรือเพิ่งเกิดขึ้น เพราะในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม เมื่อปี 2486 ก็มีแนวคิดจะย้ายเมืองหลวงไปที่จังหวัดเพชรบูรณ์ แต่ในยุครัฐบาล พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ได้เสนอสร้างเมืองใหม่ท่าตะเกียบ ที่จังหวัดฉะเชิงเทรา ส่วนยุคนายสมัคร สุนทรเวช เป็น รมช.มหาดไทย ก็เคยศึกษาที่จังหวัดนครปฐม
ส่วนในรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร เมื่อปี 2546 ก็ได้มอบหมายให้สภาพัฒน์ไปศึกษาโครงการสร้างเมืองใหม่แห่งที่ 2 แล้ว ซึ่งสภาพัฒน์ทำการศึกษาแล้วเห็นว่านครนายกมีความเหมาะสม ทั้งในด้านภูมิศาสตร์และทางกายภาพ เพราะพื้นที่ที่ถูกระบุไว้มีแนวลาดชัน เมื่อมีน้ำมาจะไหลและระบายได้เร็ว โดยเสนอให้ใช้พื้นที่ 1.5 แสนไร่ ที่อำเภอบ้านนา เป็นศูนย์กลางในการจัดตั้ง นครนายกเมืองใหม่ (Nakhonnayok New Town-NNT) โดยใช้ TAMA New Town (TNT) ของประเทศญี่ปุ่นเป็นโมเดลในการพัฒนา
TAMA New Town ใช้วิธีการจัดรูปที่ดินเพื่อการพัฒนาเมือง มีระบบขนส่งด้วยเส้นทางรถไฟรองรับ แต่เมืองนี้ยังต้องพึ่งพาโตเกียว ซึ่งมีระบบขนส่งที่เชื่อมเข้าเมืองหลวงได้ ทำให้ราคาที่ดิน ราคาบ้านที่ TNT เพิ่มขึ้นด้วย
ในแผนการศึกษา คาดว่าเมืองใหม่นครนายกจะมี อ.บ้านนา เป็นศูนย์กลาง ประกอบด้วย ต.ศรีกะอาง, ป่าขะ, เขาเพิ่ม และ ต.บ้านพริก ส่วน อ.องครักษ์จะเป็นเพียงทางผ่าน ส่วนที่สระบุรีจะควบคุมพื้นที่ 2 อำเภอ คือ อ.วิหารแดง (ต.ห้วยแก้ว, ต.คลองเชื่อม) และ อ.แก่งคอย (ต.ท่ามะปราง, ต.ชะอม) และคาดว่าจะมีการขยายไปทาง อ.หนองแค จ.สระบุรี ด้วย
แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคมบอกว่า ถ้าสภาพัฒน์นำผลการศึกษาที่เคยทำไว้สมัยรัฐบาลทักษิณมาปัดฝุ่น ก็จะดำเนินการได้รวดเร็ว เพราะวันนี้ระบบการขนส่งที่จะไปเชื่อมต่อเมืองใหม่นครนายก เพื่อเชื่อมเมืองหลวงเดิมอย่าง กทม.ไม่ใช่เรื่องลำบากอีกต่อไป จะส่งผลให้คนเริ่มขยับขยายไปอยู่ที่นั่นได้ง่ายขึ้น รวมไปถึงรัฐบาลต้องสร้างให้เป็นเมือง Smart City ที่มีความพร้อมในทุกๆ ด้าน เพราะการจะย้ายเมืองหลวงไม่ใช่จะทำได้ภายในระยะสั้นๆ 1-3 ปี แต่จะต้องมีการวางระยะยาวเพื่อเชื่อมต่อกับเมืองหลัก เมืองรองได้ด้วย
ถ้ารัฐบาลต้องการย้ายเมืองหลวงและเลือกนครนายกจะต้องมีการปรับหรือแยกเส้นทางไฮสปีดเทรนเชื่อม 3 สนามบิน เพื่อเชื่อมแอร์พอร์ตลิงก์ที่สนามบินสุวรรณภูมิ และซีพีมีแผนสร้างเมืองบริวารอยู่ที่ฉะเชิงเทรา จะทำให้โครงการไฮสปีดประสบความสำเร็จได้ด้วย ประชากรก็เดินทางสะดวก แต่คนก็อาจจะมองว่าเป็นการเอื้อซีพี ซึ่งความจริงแล้ว เป็นเรื่องของการแก้ปัญหาโดยรวมของรัฐบาล
เนื่องเพราะ กทม.เคยได้รับบทเรียนจากน้ำท่วมเมื่อปี 2554 มาแล้ว ที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร บอก 'เอาอยู่' แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือต้องอยู่ในสภาพน้ำท่วมกรุงเป็นเดือนๆ เพราะหากไม่รีบศึกษาย้ายเมือง ต่อไปอาจได้เห็นคน กทม.1 ปีจะต้องเผชิญกับสถานการณ์น้ำท่วม 2 เดือนแน่นอน
นครนายก ตรงบริเวณบ้านนา เชื่อมต่อวิหารแดง ทั้ง 2 อำเภอนี้เป็นที่สูงมาก และห่างกทม.ไม่ถึง 100 กม.จึงเหมาะสมมาก ตอนนี้ก็มีเส้นทางมอเตอร์เวย์ ทางด่วนฉลองรัฐ-นครนายก-สระบุรี และจุดเชื่อมต่อทางด่วนบางปะอิน-นครราชสีมา มีรถไฟทางคู่ บ้านนา-แก่งคอย-สระบุรี มีทางหลวงหมายเลข 3222 เชื่อมต่อ และยังมีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิทยาเขตสระบุรี กำลังพัฒนาที่นั่นแล้ว จึงถือว่าสมบูรณ์ที่สุด
แต่ปัญหาที่จะเกิดขึ้นก็ตรงเรื่องการเวนคืน แม้จะมีที่ราชพัสดุจำนวนมากก็ตาม ดังนั้นรัฐก็คงจะเวนคืนเฉพาะในส่วนของระบบสาธารณูปโภคที่จำเป็น ส่วนการจัดสรรอื่นๆ ก็คงเป็นเรื่องที่เอกชนต้องเข้ามาร่วมดำเนินการ
มีการพูดถึงโคราชว่าจะไปสร้างเมืองใหม่ที่นั่น วันนี้ระบบสาธารณูปโภคพร้อม มีทั้งมอเตอร์เวย์บางปะอิน-โคราช มีโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน เส้นทาง กทม.-โคราช-หนองคาย มีรถไฟทางคู่ กทม.-โคราช-หนองคาย มีสนามบินพาณิชย์ และเป็นที่สูง แต่มีข้อด้อยตรงที่ระยะทางไกลเกิน 100 กม. เรื่องนี้รอว่ารัฐบาลจะตัดสินใจอย่างไร
ด้านนายชุตยาเวศ สินธุพันธุ์ นักวิจัยด้านสถาปัตยกรรมและการอยู่รอด บอกว่าจากการศึกษาและวิจัย ซึ่งมีข้อมูลในต่างประเทศและในประเทศ พบว่าสภาวะโลกร้อนและการละลายของน้ำแข็งขั้วโลก สูงขึ้นมากกว่าปกติ ซึ่งส่งผลกับน้ำทะเลมาก ทำให้น้ำทะเลหนุนสูงขึ้นปีละ 4 มิลลิเมตร ขณะที่ กทม.ก็มีการทรุดตัวปีละ 1.5 มิลลิเมตร ทำให้พื้นที่ กทม.ต่ำกว่าระดับน้ำทะเลอยู่ตลอด และอีกไม่นานน้ำทะเลจะสูงขึ้นถึง 30 และ 50 เมตร
จากดาต้าที่มีอยู่ น้ำแข็งขั้วโลกถ้าละลายหมดจริงๆ จะทำให้น้ำทะเลสูงขึ้นประมาณ 30 เมตร ผมก็เชื่อว่าจะไปได้ถึง 50 เมตร ซึ่งถ้า 30 เมตรก็เท่ากับตึก 10 ชั้น แต่ถ้าเป็น 50 เมตรก็เท่ากับตึก 15-16 ชั้น ซึ่งเกิดได้แน่ๆ ส่วนระยะเวลา 10-20 ปีถ้ารัฐบาลไม่ทำอะไร กทม.อยู่ไม่ได้แน่ๆ
ปัจจุบันข้อมูลต่างๆ ในเรื่องของสภาวะโลกร้อน น้ำแข็งขั้วโลกละลาย จะส่งผลกระทบต่อประเทศไทย ยังไม่นิ่ง ทำให้นักวิชาการทุกภาคส่วนต้องคอยติดตามและศึกษา เพื่อนำมาใช้ในการบริหารจัดการ โดยเฉพาะการที่ พล.อ.ประยุทธ์ สั่งการให้สภาพัฒน์ไปศึกษาถึงการย้ายเมืองหลวง ถือเป็นเรื่องที่ดีมากๆ เพราะเท่ากับว่าจะมีการวางแผนชัดเจนว่า ถ้าจะอยู่ กทม.ต่อไปจะอยู่กันอย่างไร เพราะการจะใช้วิธีการป้องกันน้ำท่วมด้วยการสร้างกำแพงกั้นน้ำ ที่รัฐกำลังทำอยู่นั้นเป็นคำตอบที่ยั่งยืนมากแค่ไหน
ถ้าจะไม่ย้ายก็ต้องมาบริหารจัดการเมืองกันใหม่ ต้องเอาคลองที่ถูกถมไปกลับคืนมา ต้องจัดพื้นที่ที่ทุกคนยอมรับได้เก็บไว้รับน้ำ ก็จะมีที่ไว้รับน้ำมหาศาล กรุงเทพฯ ก็จะกลายเป็น Amphibious City เมืองสะเทินน้ำสะเทินบก เพราะเราจะต้องอยู่กับน้ำตลอด เหมือนที่คลองผดุงกรุงเกษม คือ ถนนสองฝั่งคลอง สามารถถูกออกแบบได้ ริมตลิ่ง สามารถออกแบบเปลี่ยนเป็นสวนสาธารณะได้ คลองนี้มีพื้นที่สามารถรับน้ำได้มากขึ้น เพราะมีความกว้างของความเป็นตลิ่งเช่นกัน
จากข้อมูลที่มีอยู่นั้นเขาเห็นว่า ควรย้ายเมืองหลวงไปจะดีที่สุด เพราะการไปสร้างเมืองใหม่ จะไม่ยากเท่ากับการรักษา กทม.ไว้ท่ามกลางภัยธรรมชาติที่มองเห็นเต็มไปด้วยน้ำ ส่วนจะไปอยู่ที่ไหนที่เหมาะนั้นในด้านการออกแบบและผังเมืองเชื่อว่าควรจะสร้างเมืองใหม่หลายๆ แห่ง และแต่ละแห่งก็มีความโดดเด่นและอยู่ได้ด้วยองค์ประกอบของความมีชีวิตของความเป็นเมือง
เราศึกษาไว้ 3 เมือง ให้ระยองเป็นเมืองท่า การค้า ที่มีการเชื่อมต่อไปยังประเทศต่างๆ ได้ จะทำให้ EEC เกิดได้ ส่วนโคราชเป็นเมืองทางวัฒนธรรม เพชรบูรณ์เป็นเมืองทางการปกครอง ทุกๆ เมืองจะต้องโต รัฐจึงต้องออกแบบให้คนเข้ามาใช้ชีวิตในเมืองนั้นๆ ด้วย
ดังนั้นจึงคาดหวังว่า สภาพัฒน์จะต้องเร่งดำเนินการศึกษาเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติได้อย่างจริงจัง และต้องดึงนักวิชาการเรื่องผังเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เพราะการจะสร้างเมืองใหม่ต้องใช้เวลาเป็น 10 -20 ปีจึงจะเห็นผล และเมื่อเลือกที่จะสร้างเมืองใหม่ อีกไม่นานสังคมไทยก็อาจจะเห็น กทม.มีสภาพเพียงโครงสร้างที่ลอยๆ อยู่ในน้ำ และถึงวันนั้นก็อาจจะนั่งเรือมาเที่ยวกันเพราะทุกอย่างใน กทม.ต้องย้ายหมดในที่สุด
ขณะที่ ผศ.ดร.ธีรพันธ์ อรธรรมรัตน์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมโยธาและสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล หนึ่งในผู้เชี่ยวชาญด้านแผ่นดินไหว กล่าวว่า ในแง่ของธรณีวิทยา กรุงเทพฯ จะมีปัญหาอยู่ 3 ประการ คือ น้ำท่วม ดินทรุด และความเสี่ยงจากผลกระทบจากแผ่นดินไหว เนื่องจากพื้นที่กรุงเทพฯ เป็นพื้นที่ลุ่ม อยู่ใกล้ปากแม่น้ำเจ้าพระยา และอยู่ใกล้กับระดับน้ำทะเล หากเกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ฝนตกหนัก ก็เสี่ยงต่อปัญหาน้ำท่วม ก่อนหน้านี้มีการสูบน้ำบาดาลกันมากจึงมีปัญหาดินทรุด และการที่กรุงเทพฯ เป็นพื้นที่ดินอ่อนทำให้ได้รับแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวที่เกิดบนลอยเลื่อนศรีสวัสดิ์และรอยเลื่อนเจดีย์สามองค์ ซึ่งอยู่ไม่ไกลกรุงเทพฯ
แต่ถือว่าปัญหาทั้ง 3 ประการยังอยู่ในระดับที่รับมือได้ เนื่องจากปัจจุบันคนกรุงเทพฯ ใช้น้ำบาดาลน้อยลง ส่วนใหญ่หันมาใช้น้ำประปา ในส่วนของปัญหาน้ำท่วม หากจัดการเรื่องปัญหาการทิ้งขยะ สิ่งกีดขวางทางน้ำ ก็ลดปัญหาได้ ขณะที่ผลกระทบจากแผ่นดินไหว หากเสริมโครงสร้างด้านวิศวกรรมในอาคารต่างๆ ก็ช่วยลดแรงสั่นสะเทือนได้
สำหรับจังหวัดนครนายก ซึ่งรัฐบาลที่ผ่านมาเล็งเห็นว่า สภาพธรณีวิทยาเป็นพื้นที่ดินแข็ง ปัญหาดินทรุดอาจจะน้อย แต่มีการพูดกันว่าอาจมีรอยเลื่อนแผ่นดินไหวพาดผ่าน ซึ่งยังไม่มีผลการศึกษาที่ชัดเจน
โคราชก็มีความเสี่ยงเรื่องน้ำท่วมได้
ผศ.ดร.ธีรพันธ์มองว่า การย้ายเมืองหลวงอาจจะไม่ใช่การแก้ไขปัญหาที่แท้จริง เพราะปัญหาหลักไม่ได้เกิดจากสภาพทางธรณีวิทยา แต่เป็นปัญหาเรื่องการจราจรและความแออัดของเมือง ซึ่งต้องแก้ด้วยการบริหารจัดการ เช่น ระบบการจัดการขยะ การจัดการทางไหลของน้ำ เพื่อป้องกันน้ำท่วมหลังฝนตก และการกระจายความเจริญออกไปสู่ภูมิภาคเพื่อลดปริมาณคนที่เข้ามาอยู่ในกรุงเทพฯ ซึ่งการขยายเมืองหลวงอาจจะช่วยได้
ในที่สุดหากจะมีการย้ายเมืองหลวงจริงก็ต้องศึกษาว่าพื้นที่ใหม่จะมีปัญหาอะไรบ้าง จะรับมืออย่างไร ต้องมีการวางผังเมือง ไม่สร้างสิ่งก่อสร้างขวางทางน้ำ มีการวางระบบการจราจร เพื่อไม่ให้เจอกับปัญหาเดิมๆ