รายละเอียด :
เคลียร์ประเด็น ร่าง พ.ร.บ. ข้าว มีแต่ผลเสียจริงหรือ ?
ขณะนี้โลกโซเชียลกำลังวิพากษ์วิจารณ์ร่าง พ.ร.บ. ข้าว ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของ สนช. โดยส่วนใหญ่กังวลว่าพี่น้องชาวนาจะได้รับผลกระทบ และจะทำให้ไทยสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน เกิดอุปสรรคต่อระบบการค้าข้าวทั้งวงจร
อันที่จริง ร่าง พ.ร.บ. ข้าว พ.ศ.
. จะเป็นกลไกควบคุมการผลิตและจำหน่ายข้าวเปลือกอย่างเป็นระบบ สร้างความเป็นธรรมให้ชาวนาและผู้รับซื้อ โดยมีคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าวที่ประกอบด้วยตัวแทนจากทุกภาคส่วนเข้ามาร่วมกันกำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์ข้าวของประเทศ เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้
แต่ที่ผ่านมากลับถูกตีข่าวผิดเพี้ยนไปว่า ... พ.ร.บ. ข้าว จะทำให้ชาวนาไม่สามารถเก็บเมล็ดพันธุ์ข้าวไว้ใช้หรือขายเองได้ และเป็นการจำกัดสิทธิชาวนาให้ต้องซื้อจากผู้ที่ขึ้นทะเบียนการค้าเมล็ดพันธุ์เท่านั้น โดยหากฝ่าผืนต้องติดคุก 1 ปี ปรับ 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ข้อมูลแบบผิด ๆ ทำให้เกิดความตื่นตระหนกและวิจารณ์กันขรม ทั้ง ๆ ที่เจตนาของกฎหมายนี้ต้องการถ่ายโอนอำนาจในการรับรองพันธุ์ข้าวจากกรมวิชาการเกษตรไปให้กรมการข้าว ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านข้าวกำกับดูแล ไม่ให้พันธุ์ข้าวที่ไม่มีคุณภาพถูกจำหน่ายในเชิงพาณิชย์
ชาวนาผลิตเมล็ดพันธุ์ไว้ใช้เองหรือแลกเปลี่ยนมีความผิดจริงหรือ?
หากย้อนไปดู พ.ร.บ. พันธุ์พืช พ.ศ. 2518 จะพบบทบัญญัติที่ว่า การจำหน่ายพันธุ์พืชจะทำได้เฉพาะเมล็ดพันธุ์ที่มีการรับรองพันธุ์แล้วโดยกรมวิชาการเกษตร แต่ภายหลังมีการจัดตั้งกรมการข้าวขึ้น การรับรองพันธุ์ข้าวจึงเป็นหน้าที่ของกรมการข้าว และยังให้เกษตรกรสามารถผลิตเมล็ดพันธุ์และเก็บไว้ใช้เองได้
ส่วนการห้ามไม่ให้เก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ใช้เองตามร่าง พ.ร.บ.ข้าว นั้น เป็นบทบัญญัติที่ห้ามเฉพาะกลุ่มนายทุน แต่ถ้าเป็นกลุ่มชาวนาที่ไม่ได้เป็นผู้ประกอบการและมีการเก็บเมล็ดพันธุ์เอาไว้ เพื่อแลกเปลี่ยนกันในเครือข่ายชาวนาด้วยกันก็จะไม่มีความผิด ไม่ต้องติดคุกหรือถูกปรับ
ร่าง พ.ร.บ.ข้าว เอื้อนายทุนจริงหรือ?
กฎหมายฉบับนี้ไม่ได้เอื้อนายทุนยักษ์ใหญ่ตามที่หลายฝ่ายกล่าวหา เพราะถ้าชาวนามีเมล็ดพันธุ์ข้าวที่ดี ก็สามารถซื้อขายแลกเปลี่ยนได้อย่างอิสระ เว้นแต่ชาวนาจะไปทำในลักษณะที่เป็นผู้ประกอบการเพื่อค้ากำไรเสียเอง เช่นนี้ก็ต้องขออนุญาตจากกรมการข้าวเสียก่อน
บังคับให้ชาวนาทุกคนขึ้นทะเบียนจริงหรือ?
สำหรับกรณีที่พูดกันว่าชาวนาทุกคนต้องขึ้นทะเบียนนั้น ไม่ได้มีการระบุไว้ในร่าง พ.ร.บ. ข้าว ตามที่เป็นข่าว แต่กฎหมายได้กำหนดให้กรมการข้าวเชื่อมโยงข้อมูลเกษตรกรกับฐานข้อมูลที่มีอยู่แล้วของภาครัฐ
นอกจากนี้ ร่าง พ.ร.บ. ข้าว ยังได้กำหนดให้โรงสีต้องส่งสำเนา ใบรับซื้อ ให้กับกรมการข้าว เพื่อเป็นหลักฐานในการขอรับการส่งเสริมจากภาครัฐในอนาคต โดยจะมีการกำหนดหลักเกณฑ์การดำเนินการต่อไป
ห้ามซื้อขายข้าวหอมจัสมิน 85 จริงหรือ?
แม้ข้าวหอมจัสมิน 85 หรือข้าวหอมพวง จะเป็นพันธุ์ข้าวที่ไม่ผ่านการรับรองจากกรมวิชาการเกษตร แต่เกษตรกรภาคกลางมักนิยมปลูกกัน ก็สามารถนำไปขายได้ หากยังมีผู้รับซื้อในท้องตลาด เพราะเมล็ดพันธุ์ข้าวพันธุ์นี้เกษตรกรสามารถแลกเปลี่ยนกันเองได้ ยกเว้นการซื้อขายด้วยการโฆษณาจะไม่สามารถทำได้
ท้ายที่สุดขอยืนยันว่า ร่าง พ.ร.บ. ข้าว ฉบับนี้ ได้ยกเว้นการควบคุมการใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวกว่า 5 แสนตัน ที่เกษตรกรแลกเปลี่ยนกัน โดยไม่ถือเป็นการจำกัดสิทธิของพี่น้องชาวนาแต่อย่างใด
----------------------
ภาพ / ข่าว : กลุ่มสื่อสารเชิงกลยุทธ์ สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี